ในที่สุดก็เล่นจนจบ บอกตรงๆว่าได้ฟิวความทรมานเอาเรื่อง แต่ก็ถือว่าเป็นเกมที่สนุกมากๆกับเกม Sifu ซึ่งวันนี้เปลี่ยนแนวการรีวิวเกมยิงๆ มาเป็นแนวตต่อสู้กันบ้าง เกมนี้ได้รับเสียงตอบรับกับแฟนสาย Fighting อย่างล้นหลาม โดนผู้พัฒนาเกมนี้เคยทำเกมคล้ายๆกับ Sifu กันไว้ก่อนหน้านี้คือ Absolver แต่จะเน้นหนักไปทาง PVP สะมากกว่าและก็ไม่ได้รับความนิยม หรือเป็นกระแสเท่ากับ Sifu “เจ้าฆ่าพ่อข้า ดังนั้นข้าจะฆ่าเจ้า” นี่เป็นหนึ่งในพล็อตที่เรามักจะเห็นกันตามภาพยนตร์จีนแนวกำลังภายใน หรือวิทยายุทธ์อยู่เสมอ เรื่องรางของการล้างแค้น ห้ำหั่นกัน ระหว่างคนสองคน หรืออาจจะเป็นตัวละครเอกกับแก๊งวายร้ายทั้งแก๊ง ซึ่งว่ากันตามตรงเนื้อเรื่องมันแทบไม่ใช่ส่วนสำคัญสักเท่าไรในภาพยตร์ประเภทนี้ มันเป็นเหมือนแค่การหาเหตุผลมารองรับให้พระเอกได้โชว์สกิลการอัดคนเพียงเท่านั้นเอง
เกม Sifu ใช้แกนหลักของเรื่องในแบบเดียวกัน อาจจะเพราะทางผู้สร้างต้องการถ่ายทอดเรื่องราวให้เหมือนกับผู้เล่นกำลังรับชมภาพยนตร์จากแดนมังกรอยู่ก็เป็นได้ หรืออาจจะเป็นเพราะพวกเขาต้องการเน้นไปที่เกมการเล่นแบบสุดโต่ง และไม่อยากให้เนื้อเรื่องมาเป็นตัวฉุดรั้งเอาไว้ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สิ่งที่ตัวเกมนี้นำเสนอออกมา มันได้พาเกมแนว Beat-em-ups หรือเกมแนวซัดแม่งเลยกลับมาคืนชีพในยุคปัจจุบันได้อีกครั้ง หลังจากที่แฟนเกมแนวนี้ไม่ได้สัมผัสถึงเกมดี ๆ มานานนม ส่วนความยอดเยี่ยมของ Sifu จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น รีวิวนี้มีคำตอบ
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น แกนหลักเนื้อเรื่องของ Sifu มันไม่มีอะไรมากเลย เรื่องราวเริ่มมาจากอดีตลูกศิษย์ของปรมมาจารย์กังฟูสำนักหนึ่งต้องการล้างแค้นอาจารย์ของตัวเอง อดีตลูกศิษย์คนนั้นจึงพากันยกพวก นำยอดฝีมือทั้ง 5 คน บุกถล่มสำนักกังฟูที่เคยชุบเลี้ยงตัวเองมา และไล่ฆ่าเหี้ยนยกสำนัก ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวเอกที่เป็นเด็กอายุเพียง 12 ปี ทว่าด้วยเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ประจำตระกูล จึงทำให้ตัวเอกของเราสามารถโกงความตายมาได้ ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นของการฝึกฝนยาวนานถึง 8 ปี เพื่อชำระบัญชีแค้นที่แก๊งตัวร้ายก่อเอาไว้ และถึงแม้ตัวเกมจะจั่วหัวให้เราจัดการล้างแค้นก็จริง แต่ภายในเกมนั้นจะมีตัวเลือก Spare หรือไว้ชีวิตกับเหล่าบอสประจำด่านทั้ง 5 อีกด้วย ซึ่งการจะไว้ชีวิตได้นั้น ผู้เล่นจะต้องทำการจัดการบอสจนมีโอกาสสังหารมาแล้วก่อนหนึ่งครั้ง จากนั้นต้องรอจนกว่าบอสจะฟื้นตัว แล้วจัดการบอสลงอีกที เป็นเหมือนกับการบอกว่า “ข้าจะฆ่าเจ้าตรงนี้เสียก็ได้ แต่ข้าเลือกที่จะไว้ชีวิตเจ้านะ” ซึ่งระบบเล็ก ๆ น้อย ๆ ตรงนี้ก็ดูใส่ใจได้ดี ไม่ได้มีขึ้นมาให้กดทื่อ ๆ แบบเกมทั่ว ๆ ไป ช่วยเพิ่มความอินกับเนื้อเรื่องของผู้เล่นได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียว
สิ่งที่โดดเด่น และเตะตาตั้งแต่เห็นตัวอย่างของเกมสำหรับใครหลาย ๆ คนก็คือ ภาพของการต่อสู้ด้วยหมัด เท้า กระบอง ไปจนถึงการใช้สิ่งของประกอบฉากต่าง ๆ มาร่วมในการปะทะด้วย ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานั้นมันลื่นไหลมาก ต่อให้ผู้เล่นทำการรัวปุ่มมั่ว ๆ ท่าทางที่ออกมาในเกมก็ยังดูต่อเนื่อง จนเหมือนกับหลุดออกมาจากหนังกังฟูอยู่ดี มีทั้งการปลดอาวุธ ใช้เท้าเกี่ยวอาวุธขึ้นมาถือ ไปจนถึงการคว้าขวดแก้วหรืออิฐบล็อกที่ปามากลางอากาศ ก็ทำได้เท่และเนียนตาเป็นอย่างมาก ช่วยทำให้คนเล่นรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังเป็นปรมมาจารย์กังฟูแบบจริง ๆ ได้เลย หากชำนาญมากพอ อีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยส่งเสริมระบบการต่อสู้อย่างเป็นธรรมชาตินี้ก็คงหนีไม่พ้นมุมกล้อง ที่คอยปรับเปลี่ยน สั่นไหว และตามหลังผู้เล่นให้เหมาะกับสถานการณ์ได้ โดยเฉพาะยิ่งถ้าตัวเอกของเรากดใช้ท่า Takedown การที่มุมกล้องปรับให้รับการท่า Takedown นั้น ๆ ก็ช่างเท่เสียไม่มี
นี่ยังไม่รวมไปถึงอนิเมชันของตัวละครที่ทำออกมาได้สมจริง ไม่มีจุดที่ดูเวอร์จนเกินไป แถมยังถ่ายทอดความเป็นกังฟูออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ต้องยอมรับเลยว่า Sifu เป็นอีกหนึ่งเกมที่พัฒนาระบบการต่อสู้ออกมาได้ไร้ที่ติจริงๆ
อีกหนึ่งจุดขายของเกม Sifu ก็คือระบบการตายที่ไม่เหมือนใคร
ปกติแล้วเมื่อผู้เล่นตายในเกมทั่วไป ผู้เล่นจะถือว่า Game Over ซึ่งจะต้องเริ่มเล่นในฉากนั้น ๆ ใหม่ จนกว่าจะสามารถผ่านเข้าไปได้ ทว่าในเกม Sifu นั้น ทางผู้พัฒนากลับเลือกใช้ระบบที่สร้างสรรค์และยึดโยงกับเนื้อเรื่องภายในเกมได้เป็นอย่างดี โดยเมื่อผู้เล่นเสียชีวิต ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ผู้เล่นจะยังไม่ Game Over ในทันที แต่จะมีตัวเลือกให้สามารถฟื้นคืนชีพได้ ซึ่งการคืนชีพนั้นจะสามารถคืนชีพได้เรื่อย ๆ จนกว่าอายุจะเกิน 70 ปีขึ้นไป หากอายุเกินตัวเลขดังกล่าว การตายหลังจากนั้นจะเป็น Game Over ของจริง
แน่นอนว่า Sifu ไม่ใช่เกมที่ง่าย และการตายจึงมีบทลงโทษตามมา โดยทุกครั้งที่ผู้เล่นอายุ 30 40 50 60 และ 70 ปี หลอดพลังชีวิตของผู้เล่นจะลดลง แต่ก็แลกมาด้วยพลังโจมตีของตัวละครหลักที่เพิ่มขึ้น เป็นเหมือนกับการได้อย่างเสียอย่าง เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเล่นแบบ High Risk High Return อีกด้วย ซึ่งระบบนี้เป็นเหมือนการเปรียบเปรย การเรียนรู้และความชำนาญในกังฟู ที่เมื่อฝึกฝนมานานมากขึ้น การเข้าถึงแก่นหลักของวิชาก็จะยิ่งแก่กล้าขึ้น แต่ก็แลกมาด้วยสังขารที่ร่วงโรยไปเช่นกัน ต้องยอมรับเลยว่า ตรงจุดนี้ทางผู้พัฒนาอย่าง Slocap ออกแบบมาได้สร้างสรรค์ มีเนื้อเรื่องรองรับ แถมยังเพิ่มความท้าทายและยุติธรรมดีอีกด้วย นับเป็นอีกหนึ่งข้อดีของเกมนี้เลยล่ะครับ
งานภาพของเกมจะใช้รูปแบบการ์ตูน ไม่เน้นไปที่ความสมจริงเท่าไรนัก ซึ่งการเลือกใช้ภาพสไตล์นี้ก็ดูเข้ากับธีมกังฟูของตัวเกมเป็นอย่างดี มันให้อารมณ์เหมือนดูมู่หลานฉบับหมัดมวยตามล้างแค้นทั้งโคตรเลยล่ะ และแน่นอนว่าในเกมที่มีความยากแบบโหดหิน ช่วงเวลาแค่เสี้ยววินาทีก็ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างมากมายมหาศาล เฟรมเรตจึงแทบเป็นทุกอย่างภายในเกมนี้ ซึ่งทางผู้พัฒนาก็ทำออกมาได้น่าประทับใจ จังหวะต่อสู้ หรือจังหวะปะทะ ต่อให้มีศัตรูจำนวนมากแค่ไหน หรือจะมีเอฟเฟกต์จากการสู้บอสมากขนาดไหน ตัวเกมก็ไม่มีอาการกระตุกให้เห็นเลยแม้แต่น้อย จุดที่เกมกระตุกมีเพียงจังหวะเดียวนั้นก็คือ การข้ามฉากใหม่ ซึ่งในการข้ามฉากจะไม่มีศัตรูโถมเข้ามา ข้อเสียตรงนี้จึงไม่ได้ไปขัดอารมณ์ในการเล่นแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ด้วยกราฟิกที่ไม่ได้มีรายละเอียดเยอะมาก จึงทำให้เครื่อง PC อายุเก่า ๆ ก็สามารถเล่นได้อย่างหายห่วง ตัวเกมมีความต้องการขั้นต่ำอยู่ที่ RAM: 8GB, CPU: AMD FX-4350 หรือ Intel Core i5-3470 หรือเทียบเท่า และ GPU: Radeon R7 250 หรือ GeForce GT 640 หรือเทียบเท่า ด้วยสเป็กที่ต่ำมาก เชื่อว่าเกมเมอร์แทบทุกคนน่าจะเข้าถึงได้อย่างแน่นอน